The International เป็นหนังสืบสวนปนระทึกที่ทำออกมาเข้าท่าทีเดียวครับ เพียงแต่มันอาจไม่สดไม่ใหม่ ตัวหนังเลยไม่ดังเท่าที่ควร และทำเงินพลาดเป้าไปหลายอยู่ (ลงทุน $50 ล้าน ได้คืนมาจากทั่วโลก $60 ล้าน เรียกว่ายังติดตัวแดงอยู่พอสมควร)
หลุยส์ (Clive Owen) ตำรวจสากลกำลังตามสืบธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากเขาและอัยการสาวนามว่า เอเลนอร์ (Naomi Watts) ตรวจพบเงื่อนงำว่าธนาคารอาจมีแผนการณ์บางอย่างที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกได้
แล้วก็ตามสูตรครับ ยิ่งพวกเขาสืบมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการนำพาตนเองไปสู่อันตรายมากขึ้นเท่านั้น
จริงๆ หนังทำออกมาเข้มข้นและน่าติดตามไม่น้อย แม้จะมีช่วงอืดไปหน่อยในตอนต้นๆ หรือบางช่วงเราอาจงงว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ (เพราะตอนต้นๆ หนังก็บอกเราไม่ชัดเหมือนกันว่าพวกพระเอกกำลังทำอะไรอยู่) แต่เมื่อหนังเล่าอะไรๆ ให้คนดูได้ทราบมากขึ้น (เช่น เงื่อนงำเกี่ยวกับสิ่งที่ธนาคารแห่งนี้กำลังทำ) และเมื่อเราเห็นภาพชัดขึ้น หนังก็เริ่มน่าสนใจขึ้นตามลำดับ
หนังมีฉากแอ็กชันไม่มาก ทว่าพอมีแต่ละทีก็นับว่าน่าจดจำ โดยเฉพาะฉากยิงกันกลางพิพิธภัณฑ์ที่ถือเป็นไฮไลท์ของหนังเลยครับ ทำออกมาได้มันส์มากๆ ลุ้นสุดๆ จังหวะอารมณ์ตื่นเต้นมันไหลมาเทมาจริงๆ (โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าดูฉากนี้ฉากเดียวก็คุ้มแล้วครับ อันนี้สำหรับผมนะครับ ^_^)
อารมณ์ของหนังมันก็ประมาณเดียวกับ Fair Game, The Interpreter หรือ The Manchurian Candidate น่ะครับ สืบสวนลึกลับ ระทึกขวัญผสมแอ็กชัน ดังนั้นถ้าใครชอบหนังประมาณนี้ก็น่าจะโอกับหนังในระดับหนึ่ง ซึ่งหนังกำกับโดย Tom Tykwer (Perfume: The Story of a Murderer) ก็ถือว่าคุมหนังได้ไม่เลวครับ เพียงแต่ลูกเล่นอาจไม่มาก ความน่าสนใจหรือความน่าติดตามเลยไม่ไหลมาเทมาเท่าที่ควร คือดูได้เรื่อยๆ น่ะครับ แต่มันไม่ถึงกับสนุกมากๆ หรือน่าติดตามจัดๆ เท่านั้นเอง
แต่ผมชอบประเด็นที่หนังพยายามบอกนะครับ (ถัดจากนี้อาจเรียกได้ว่าสปอยล์นะครับ ไม่อยากทราบข้ามไปครับ)
ผมชอบตอนตัวละครหนึ่งพูดว่า “หนี้คืออำนาจ” ในความหมายของเขาคือหากเราได้เป็นเจ้าหนี้ใครล่ะก็ เราจะมีอำนาจเหนือคนๆ นั้น เราจะมีอำนาจทำให้เขากดดันหรือผ่อนคลายก็ได้ หรือเราอาจมีอำนาจถึงขั้นกำหนดทิศทางชีวิตลูกหนี้ได้เลย
เช่น ปกติลูกหนี้ซื้อของหรือลงทุนได้อย่างอิสระ แต่หากเราเป็นเจ้าหนี้ เราก็อาจจะสามารถกำหนดให้เขาทำในสิ่งที่เราเห็นชอบ หรือห้ามทำในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย (ไม่ว่าจะกำหนดแบบเปิดเผย หรือทำแบบอ้อมๆ)
ดังนั้นธนาคาร (ในหนัง) เลยมีกิจกรรมหนึ่งที่ดำเนินการอยู่เสมอๆ คือการบริหารจัดการให้เกิด “ลูกหนี้” โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ องค์กรระดับชาติ หรือกระทั่งรัฐบาลของบางประเทศ เพราะถ้าใครมาเป็นหนี้กับธนาคารล่ะก็ จะเท่ากับธนาคารมีอำนาจเหนือองค์กรนั้นๆ หรืออย่างน้อยธนาคารก็จะได้รับผลประโยชน์จากการเป็นเจ้าหนี้ไม่มากก็น้อย
มองๆ ไปแล้ว มันก็คือเป็นการเดินเกมสร้างผลกำไรที่ฉลาดทีเดียวนะครับ
อีกตอนที่ชอบก็คือตอนที่พระเอกขุดความจริงมากขึ้นๆ พบสิ่งผิดปกติมากขึ้นๆ จนหากหาหลักฐานมาเพิ่มอีกหน่อยก็น่าจะเล่นงานธนาคารได้ ก็มีตัวละครหนึ่งตั้งคำถามขึ้นมาว่า “ผู้มีอำนาจที่ไหนจะอยากเอาผิด ในเมื่อธนาคารแห่งนี้ก็เป็นที่พึ่งและคอยอำนวยความสะดวกให้พวกเขาอยู่?”
คอยเป็นที่พึ่งทางการเงิน (ให้กู้) เป็นที่พึ่งทางการเมือง (ให้งบสนับสนุนพรรค ฯลฯ) เป็นที่พึ่งตอนดำเนินนโยบาย ฯลฯ
คำถามหลังนี่ยิ่งน่าคิดหนักขึ้นไปอีก ^_^
ยอมรับครับว่าหนังเรื่องนี้อาจไม่ถึงกับสนุกมากมาย แต่ในแง่การกระทุ้งกระแทก “เกมเศรษฐกิจโลก” นั้นถือว่ามีประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย