เรื่องราวของ เคท (เอมิเลีย คลาร์ก) หญิงสาวอับโชคชาวลอนดอน ที่ได้มาเจอกับ ทอม (เฮนรี่ โกลดิง) โดยบังเอิญในช่วงคริสมาสต์ แล้วเธอก็ดันเผลอยกหัวใจไปให้เขาภายในไม่กี่วันต่อมา ด้านทอมเองก็พยายามจะเป็นคนที่ดีและเหมาะสมเมื่อเขาตัดสินใจก้าวเข้ามาอยู่ในชีวิตของเธอ แต่ทั้งคู่ก็ต้องจับมือกันฝ่าฟันอุปสรรคมากมายที่ผ่านเข้ามา
Last Christmas ได้แรงบันดาลใจมาจากเนื้อเพลง Last Christmas ของ George Michael อย่างโต้ง ๆ ชัดเจน เริ่มตั้งแต่ Kate หรือ Katarina (แม่มังกร Emilia Clarke จาก Game of Thrones) นางเอกของเรื่องเนี่ย มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้อง และมี George Michael เป็นศาสดา
แล้วบรรยากาศในหนังคือช่วงใกล้เทศกาล และ Kate ก็ทำงานในร้านที่ขายของตกแต่งคริสต์มาส (ซึ่งเราสงสัยมากว่า ของมันขายได้ตลอดปีขนาดนั้นเลย?) ของบอสสาวใหญ่คนจีนแท้ ๆ ที่เธอเรียกว่า Santa (Michelle Yeoh จาก Crazy Rich Asians)
Kate เป็นคนเละเทะไม่เอาไหนตั้งแต่ป่วยหนัก และไม่ยอมกลับไปอยู่ที่บ้านพ่อแม่ เพราะเธอเบื่อแม่ของเธอ (Emma Thompson) ที่อีช่างดราม่า ขี้กังวลเกินเหตุ ซึ่งเป็นผลจากโรคซึมเศร้า
แต่แล้ว Kate ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น หลังจากได้พบกับ Tom (Henry Golding จาก Crazy Rich Asians) อาสาสมัครในศูนย์ช่วยเหลือผู้ไร้บ้าน (homeless shelter) ซึ่งพาเธอไปทำอะไรใหม่ ๆ และช่วยเปลี่ยนมุมมองการมองโลกของเธอ
ในแง่ของความเบาสมอง คลายเครียด ฟีลกู้ด หรือดูเพลิน ๆ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ก็ยอมรับว่า หนังทำได้โอเค ส่วนหนึ่ง (หรือส่วนใหญ่) ก็เพราะการแสดงของนักแสดงด้วย ตั้งแต่ Emilia Clarke ที่น่ารักสดใสและพลังล้นจอ, Michelle Yeoh ที่มีบทน่ารักครุคริขโมยซีน, และ Emma Thompson ที่ตรึงคนดูอยู่หมัดทุกซีนและเรียกเสียงหัวเราะได้เหมือนกัน
เรื่องนี้ ผู้ชายเป็นตัวประกอบ ขนาดพ่อของนางเอกที่นั่งหัวโด่อยู่ในบ้าน บางทีเราก็ไม่รู้ว่าจะมีมาทำไมเลย กล่าวคือ ในขณะที่ทุกคนในบ้านจะมีความไม่ปกติ เช่น นางเอกเป็นโรคและเหลวเป๋ว พี่สาวนางเอกเป็นเกย์ และแม่นางเอกเป็นโรคซึมเศร้า แต่พ่อคือไม่มีอะไรมาก หนังบอกแค่ว่าเคยเป็นทนายแต่ตอนนี้ต้องมาขับอูเบอร์ หรือผู้ชายที่คู่กับเจ๊ Santa ก็จู่ ๆ ก็โผล่มาแล้วก็ปิ๊งปั๊งกันกลางร้าน ก็ไม่มีที่มาที่ไป
ที่เราต้องการจะสื่อก็คือ เรารู้สึกว่า Emma Thompson เหมือนไม่ค่อยให้ความสำคัญอะไรเท่าไหร่กับตัวละครชาย ยกเว้นพระเอก ที่ต้องมีบทบาทหน่อย เพราะเป็นไฟล์ทบังคับของการทำหนังรัก แต่ถึงกระนั้น ดูจนจบแล้ว เราก็ยังรู้สึกอยู่ดีว่า การมาการไปของพระเอกก็ยังดูเลื่อนลอย ยังดูเบา ๆ ทื่อ ๆ และยากที่จะทำให้คนดูอย่างเราเชื่อได้ โดยเฉพาะในจุด climax หรือ twist ของเรื่อง ซึ่งตรงนี้แหละที่เราไม่ชอบ และเราไม่ซื้อ แล้วดันเป็นจุดสำคัญหรือจุดหลักของเรื่องเสียด้วยสิ
แล้วอีกอย่าง ปกติเราก็ไม่ค่อยมองว่า การพาคู่เดทบุกรุกไปสถานที่ของคนอื่น เช่น ลานไอซ์สเกต ในยามวิกาล ซึ่งผิดกฎหมายอย่างชัดเจนเนี่ย มันน่าเอามา romanticize ตรงไหนอยู่แล้วด้วย (ใครไม่เข้าใจเรา ลองดูหนังเรื่อง Isn’t It Romantic บน Netflix ดูด้วยก็ได้)