Our Planet คือภาคต่อของ Planet Earth ภาค 1 และ 2 แต่หากได้ชมเพียงตอนแรก จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า ‘สาร’ ที่ต้องการจะสื่อใน Our Planet นั้น ไม่ใช่เพียงความงามหรือคุณค่าของธรรมชาติ แต่เป็นการพาเราไป ‘จ้องตา’ กับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อสิ่งมีชีวิตในแต่ละระบบนิเวศ
ซีรีส์ตอนแรกเปรียบเสมือนบทนำว่าโลกของเราใบนี้ได้เข้าสู่ยุคใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่า ‘แอนโทรโพซีน (Anthropocene)’ หรือยุคของมนุษย์ที่กิจกรรมของเรากำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสมดุลทางธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงระบบนิเวศมาเนิ่นนานนับล้านปี สายสัมพันธ์นี้โยงใยกันอย่างแนบแน่น ฝนที่เติมน้ำและแต่งแต้มสีสันให้ทะเลทราย ทรายที่พัดเอาสารอาหารเติมความอุดมสมบูรณ์ให้มหาสมุทร ป่าใหญ่ที่สร้างอินทรียสารให้กับแม่น้ำ สายใยดังกล่าวกำลังโดนทำลายจนเข้าขั้นวิกฤตโดยมนุษย์
Our Planet ฉายภาพความน่ารัก ความงาม และความน่าตื่นใจของธรรมชาติได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ทีมงานจำนวนมาก และการทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง วิดีโอหาชมยากของการปะทะบนอากาศของอินทรี วาฬหลังค่อมแม่ลูก โลมาไล่ต้อนฝูงปลากลางทะเล ปักษาสวรรค์เต้นรำเกี้ยวพาราสี มดตัดใบไม้ที่ถูกสิงกลายเป็นซอมบี้จากสปอร์ของเห็ดรา และสารพัดจังหวะที่แสนจะมีชีวิตชีวาของเหล่าสัตว์และพืช มันสวยงามจนยากที่จะทำให้ใครผิดหวัง
แต่ทุกตอนจะจบด้วย ‘ข้อเท็จจริง’ ซึ่งบอกเล่าด้วยน้ำเสียงนุ่มลึกของ เดวิด แอตเทนเบอเรอห์ แม้ไม่มีประกายของความโกรธเกรี้ยว แต่กลับแฝงด้วยความเศร้าร้าวลึกและความผิดหวังในมนุษยชาติ
ฉากที่สั่นสะเทือนใจผู้ชมมากที่สุดจนบางคนแนะว่าควรขึ้น ‘คำเตือน’ ก่อนชมสารคดีปรากฏในช่วงท้ายของตอนสองที่ว่าด้วยโลกเยือกแข็ง มันคือภาพฝูงวอลรัสนับแสนชีวิตที่รวมตัวกันบริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือของรัสเซีย ชายหาดกว้างใหญ่กลายสภาพเป็นชุมชนแออัด ซึ่งในอดีตพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้คับคั่งขนาดนี้เพราะมีแผ่นน้ำแข็งกว้างให้เหล่าวอลรัสนอนพักผ่อน
อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้แผ่นน้ำแข็งดังกล่าวหายไป วอลรัสเบียดเสียดบนชายฝั่งสีน้ำตาลแดง กระทั่งบางตัวต้องถอยขึ้นไปบนหน้าผาชัน เมื่อถึงเวลาหาอาหาร มันก็มุ่งหน้าตามสัญชาตญาณสู่ทะเลจนกลายเป็นโศกนาฏกรรม
มันเป็นชั่วไม่กี่นาทีที่หายใจไม่ทั่วท้อง วอลรัสตัวใหญ่ยักษ์เดินงุ่นง่านไปที่หน้าผา ใช้สองครีบหน้าพยายามไต่ลงบนหินที่ดูลื่น ก่อนจะกลิ้งหล่นลงมากระแทกพื้นแล้วแน่นิ่งไป ตัวแล้ว ตัวเล่า มันเป็นฉากสะเทือนอารมณ์แม้กระทั่งทีมงานผู้ถ่ายทำ คีธ สคอลีย์ (Keith Scholey) หนึ่งในผู้กำกับสารคดีชุดดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ว่า “เราต้องการเข้าให้ถึงแก่นของปัญหาในแต่ละระบบนิเวศสำคัญทั่วโลก พร้อมทั้งนำเสนอองค์ประกอบของการทำลายล้างและแนวทางการแก้ปัญหา”