หนังเล่าถึงการพยายามติดต่อกับสิ่งทรงภูมิจากต่างดาว วันหนึ่งสิ่งทรงภูมิได้ส่งระหัสข้อมูลจำนวนมากมายังโลก หลังจากถอดระหัสได้แล้วก็ทราบว่านี่คือแบบและวิธีการสร้างเครื่องเดินทางที่สิ่งทรงภูมิส่งมาให้มนุษย์สร้างเพิ่อเดินทางไปยังดาววีการ์ที่อยู่ห่างไกล นี่คือโครงการที่นานาชาติทั่วโลกร่วมลงทุนเม็ดเงินมหาศาล และเป็นหนึ่งในโครงการที่หลายคนตั้งคำถามว่าเป็นการท้าทายอำนาจของพระเจ้า
หนังพยายามโยงถึงความสัมพันธ์ในแบบตรงกันข้ามเรื่องของความเชื่อกับวิทยาศาสตร์ที่นางเอกยึดมั่นถือมั่นว่าเธอจะเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ได้เท่านั้น และความเชื่อเรื่องศาสนา คือหนึ่งในคำถามการคัดเลือกตัวผู้จะเดินทางไปกับเครื่องข้ามอวกาศคือ “เชื่อในพระเจ้าหรือไม่” แน่นอนว่าเธอไม่เชื่อ ซึ่งค้านกับคนทั้งโลก 95% ที่นับถือพระเจ้าในรูปแบบที่ต่างกัน
คณะกรรมการตัดสินใจส่งเธอไป
นางเอกได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปอวกาศยังดาววีการ์ เธอไปลำพังเพียงมีกล้องสำหรับบันทึกภาพเท่านั้น ยานของเธอเดินทางผ่านหลายกาแลคซี่โดยผ่านทาง “รูหนอน” (wormhole) หรือที่รู้จักในชื่อ “สะพานไอน์สไตน์-โรเซน” (Einstein-Rosen bridge) หลายจุด ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นทฤษฎีที่อธิบายช่องทางลัดสำหรับเดินทางผ่านห้วงอวกาศอันยาวใกล้จากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่งด้วยเวลาอันสั้น เธอพูดทุกอย่างที่เห็นเพื่อบันทึกไว้ มองทุกสิ่งเพื่อให้กล้องวีดีโอที่ติดกับศรีษะบันทึกไว้
เธอเดินทางไปถึงดาววีการ์ เธอพบสิ่งมหัศจรรย์คือสถานที่ริมทะเลเช่นเดียวกับโลกมนุษย์แต่สวยงามกว่าหลายเท่า เบื้องบนท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาวพร่างพราย และได้พบกับสิ่งทรงภูมิอยู่ในรูปลักษณ์ของมนุษย์ซึ่งเป็นคนที่เธอคุ้นเคย เธอได้พูดคุยอะไรมากมาย และสุดท้ายก็ได้กลับมายังโลก ราวเวลาเดินทางทั้งสิ้น 18 ชั่วโมง
แต่ภาพที่คนทั่วไปเห็นมันเป็นเพียงภาพเครื่องเดินทางตกลงสู่พื้นน้ำเพียงไม่กี่วินาทีหลังจากการปล่อยยานเท่านั้น เธอไม่ได้เดินทางไปไหนเลย แค่ยานตกลงมา ซ้ำร้ายกล้องวีดีโอที่ติดตัวเธอไม่สามารถจับภาพอะไรไว้ได้ เครื่องบันทึกเสียงก็ไม่สามารถบันทึกอะไรไว้ได้อีกด้วย เท่ากับว่าทุกคนมองว่าเธอไม่ได้เดินทาง สิ่งที่เธอพบเจอนั้นอาจเป็นเพียงสิ่งที่เธอคิดหรือมโนไปเองเท่านั้น
เธอถูกตั้งคณะกรรมการสอบ หนังได้ย้อนแย้งไปยังความเชื่อของเธอในครั้งแรก ซึ่งเธอจะเชื่อเพียงวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ แต่ครั้งนี้เธอไม่มีหลักฐานอะไรเลยพิสูจน์การเดินทาง มีเพียงแค่คำพูดเท่านั้นให้การกับคณะกรรมการ เหมือนกับที่ไม่มีอะไรพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระเจ้านั่นแหละ
หนังจึงเป็นการตั้งคำถามเชิงปรัชญาว่า ทำไมคนทั้งโลก 95% ถึงสามารถเชื่อการมีอยู่ของพระเจ้าในหลาย ๆ รูปแบบได้อย่างสนิทใจทั้งที่ไม่มีหลักฐานบ่งบอกถึงการมีตัวตนได้อย่างไร
บรรยากาศของหนังเรียบง่าย พูดถึงการพยายามพิสูจน์การมีอยู่ของสิ่งทรงภูมิต่างดาว ความร่วมมือของทุกประเทศ การแสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งที่ค้นพบ ศรัทธา และวิทยาศาสตร์ ไม่ได้รีบเร่งเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ แต่ความเรื่อย ๆ จะเต็มไปด้วยคำถามที่แย้งกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับปรัชญาศาสนาตลอดเวลา
แม้แต่สถานะความสัมพันธ์ของตัวละครเอก นางเอกคือนักวิทยาศาตร์ พระเอกคือนักเทววิทยาผู้ยึดมั่นในศาสตร์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคนละขั่วเข้ากันไม่ได้ แต่ทั้งสองก็เป็นแฟนกันได้ หนังคงต้องการอธิบายว่าหากหามุมมองที่เหมาะสมได้ ความเชื่อต่างขั้วก็สามารถยืนอยู่ในจุดเดียวกันได้นั่นเอง
เพลงประกอบฟังแล้วเหมือนกับเพลงประกอบเรื่อง Forrest Gump ได้อารมณ์เกี่ยวกับความหวัง ฟังแล้วมีความหวัง
นักแสดงเล่นดี โดยเฉพาะ Jodie Foster รับบทเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เดินทางในห้วงอวกาศ ฉากอารมณ์ในขณะที่เธอตอบคำถามกรรมการสอบ สีหน้า ท่าทาง เธอทำได้ดีมาก
หนังได้รับรางวัลมากมายเช่น the Hugo Award for Best Dramatic Presentation Multiple awards and Nominations Saturn Awards เป็นต้น จึงเป็นเครื่องการันตีว่า Contact : อุบัติการสัมผัสห้วงอวกาศ เป็นหนึ่งในหนังวิทยาศาสตร์-ปรัชญาศาสนาชั้นดีที่ไม่ควรพลาดชมด้วยประการทั้งปวง